วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

รายงานเรื่องวรรณคดีสมัยสุโขทัย

วรรณคดีสมัยสุโขทัย

ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยมั่นคงเป็นปึกแผ่นขึ้น หลังจากที่เข้ามามีอำนาจเหนือขอมได้เมื่อ ประมาณพ.ศ.๑๘๐๐ โดยพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้รวมกำลังกันยกกองทัพมาตีเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นเมือง ใหญ่หน้าด่าน ของขอม มีผู้ปกครอง เมืองเรียกว่าขอมสมาดโขลญลำพงรักษาเมืองอยู่ เมื่อตีกรุงสุโขทัยได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็ได้ อภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาว เป็นเจ้าเมืองครองกรุงสุโขทัย มีพระนาม ตามอย่างที่ขอม เคยตั้งนามเจ้าเมืองสุโขทัยแต่ก่อนว่า "ศรีอินทรปตินทราทิตย์" แต่ในศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหงว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์" ซึ่งเป็นต้นราชวงศ ์ สุโขทัย (ราชวงศ์พระร่วง)
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีมเหสีชื่อนางเสือง มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ องค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ ตั้งแต่ยังเยาว์องค์กลางมีนามว่าบานเมือง และองค์เล็กมีนามว่า พระรามคำแหงในรัชสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย ์อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรเล็กๆมีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนือ จดอาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรลานนาไทยอาณาจักรพะเยาทิศตะวันตก จดเมืองฉอด
เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต พ่อขุนบานเมืองได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ และได้ทรงตั้งพระรามคำแหงเป็นมหาอุปราชครองเมืองชะเลียง พ่อขุนบานเมือง ได้ครองราชย์ อยู่จนถึงราว พ.ศ. ๑๘๒๒ ก็สวรรคต
พ่อขุนรามคำแหง (พระอนุชา)จึงขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ พระองค์ทรงเป็นนักรบที่ปรีชาสามารถ ก่อนครองราชสมบัติ เคยทรงชนช้างชนะเจ้าเมืองฉอด และในสมัยของพระองค์อาณาจักรสุโขทัยสงบราบคาบ กว้างใหญ่ไพศาล มีการเจริญสัมพันธไมตรีฉันเพื่อนกับพระเจ้าเม็งราย แห่งเชียงใหม่ พระยางำเมืองแห่งพะเยา และในขณะเดียวกันก็ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับมอญ เล่ากันว่า มะกะโทกษัตริย์มอญ ทรงเป็นราชบุตรเขยของพระองค์ นอกจากนี้ทรงได้เจริญสัมพันธไมตรี กับจีน จนได้ช่างฝีมือชาวจีนมาปรับปรุงคุณภาพของเครื่องสังคโลกในสุโขทัย และในรัชสมัย พ่อขุนรามคำแหงนี้เริ่มมีวรรณคดีที่จารึกเป็นหลักฐานของชาติขึ้นเป็นครั้งแรก
สุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระเจ้าเลอไทยกษัตริย์องค์ที่ ๔ ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถและเข้มแข็งเท่าพระราชบิดา ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ พากัน แข็งข้อ เป็นอิสระพระเจ้า อู่ทองเจ้าเมืองอู่ทองหรือสุพรรณภูมิ ได้ทรงขยาย อาณาเขต กว้างขวางขึ้นและทรงสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ. ๑๓๕๐)
พระเจ้าเลอไทยสวรรคตใน พ.ศ. ๑๘๙๐ มีการแย่งราชสมบัติระหว่างราชโอรส ๒ พระองค์ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้ทรงครองราชสมบัติแทน พระองค์เป็น กษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทรงอุทิศเวลา ศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทรงนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วงทรงสร้างวัดและสถูปเจดีย์ต่าง ๆ มากมาย และสร้างสถานที่ สำคัญต่าง ๆในสุโขทัยอีกหลายแห่ง
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้ทรงสืบ ราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา
อำนาจกรุงสุโขทัยได้สิ้นสุดลงหลังจากได้เอกราชมาประมาณ ๑๔๐ ปี เมื่อ กองทัพของพระเจ้าบรมราชาที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาตีได้ใน พ.ศ. ๑๙๒๑ แต่ราชวงศ์สุโขทัยยังคงครองสุโขทัยสืบต่อมาอีกประมาณ ๖๐ ปีจนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๔ พระเจ้าบรมราชาที่ ๒แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาณาจักร สุโขทัยเสียใหม่ โดยทรงตั้งสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสไปครองพิษณุโลก การปฏิบัติ เช่นนี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์สุโขทัยอย่างเด็ดขาดและสุโขทัยกลายเป็น ส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่นั้นมา
วรรณคดีสมัยสุโขทัยที่มีอยู่ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมีอยู่ ๔ เรื่อง คือ ๑. ศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ๒. สุภาษิตพระร่วง ๓. เตภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หรือไตรภูมิพระร่วง ๔. นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ศิลาจารึกหลักที่ ๑
(ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง)
ประวัติความเป็นมา
เมื่อราชวงศ์สุโขทัยได้สูญเสียอำนาจและกลายเป็นเมืองร้าง ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ที่จารึกในยุคนั้นก็สาบสูญ ไปจากความทรงจำของชาวไทย จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงดำรง พระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ และผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาสได้เสด็จธุดงค์เมืองเหนือ (ปีมะเส็ง เญจศก จุลศักราช ๑๑๙๓) ในระหว่างประทับอยู่ที่สุโขทัยได้ทรงพบศิลาจารึก และพระแท่นมนังศิลา ณ บริเวณเนินประสาทพระราชวังเก่าสุโขทัย ครั้นเมื่อจะเสด็จกลับก็โปรดเกล้าฯ ให้นำพระแท่น มนังคศิลา และศิลาจารึกกลับมาไว้ที่วัดสมอราย(ราชาธิวาส) ที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายมาไว้ ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์จึงได้โปรดให้นำมาไว้ที่วิหารขาว วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้นำศิลาจารึกนี้ไปรวมกับศิลาจารึกอื่นๆ ในหอสมุดแห่งชาติ ปัจจุบันนี้ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ผู้แต่ง
มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับ
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลายท่าน และผู้ที่มีบทบาท สำคัญก็คือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้าน ภาษาตะวันออก ได้ศึกษาศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และได้จัดทำคำอ่านไว้อย่างละเอียด ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ และผู้เชี่ยวชาญ ทางภาษาโบราณ อีกหลายคน ได้ศึกษาการอ่านคำจารึก และการตีความถ้อยคำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ศึกษาคำอ่านทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นจากการสันนิษฐาน ผู้แต่งอาจมีมากกว่า ๑ คน เพราะเนื้อเรื่อง ในหลักศิลาจารึกแบ่งได้เป็น ๓ ตอน คือ

ตอนแรกกล่าวถึง พระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง ใช้คำแทนชื่อว่า "กู" เข้าใจว่า พ่อขุนรามคำแหงคงจะทรงแต่งเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์เอง ตอนที่ ๒ เป็นการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ใช้คำว่าพ่อขุนรามคำแหง โดยเริ่มต้นว่า "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัยนี้ดี......" จึงเข้าใจว่าจะต้อง เป็นผู้อื่นแต่ง เพิ่มเติมภายหลัง ตอนที่ ๓ เป็นตอนยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง โดยเริ่มต้นว่า "พ่อขุนรามคำแหง นั้นหาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย......" ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าความ ในตอนที่ ๓ คงจารึกหลังตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ จึงเข้าใจว่าผู้อื่นแต่งต่อในภายหลัง
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
๑. เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น เช่น หลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย เหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนชี้แจงอาณาเขตของกรุงสุโข
๒. เพื่อสดุดีพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง
ลักษณะการแต่ง
แต่เป็นร้อยแก้ว ลักษณะเป็นประโยคสั้น ๆ กะทัดรัด และมีสัมผัสคล้องจองกันระหว่างวรรคบ้าง
เนื้อเรื่อง
เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ ตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ - ๑๘ เป็นพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่ประสูติ จนถึงเสด็จขึ้ครองราชย์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระจริยวัตรที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อพระราชบิดา พระราชมารดา และพระเชษฐา
ตัวอย่างข้อความ
"พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง กูพี่น้องท้องเดียวกันห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตรียมแต่ยังเล็ก"
"เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเราแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลากูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู"
ตอนที่ ๒ ตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ จนถึงด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๑ กล่าวถึงสภาพบ้านเมือง เหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ พระศาสนา การปกครอง ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๒๖
ตัวอย่างข้อความ
"เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจัดใคร่ค้าเงินค้าทองค้าไพร่ฟ้าหน้าใส"
"คนเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักอวยทาน"
ตอนที่ ๓ ตั้งแต่ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ จนถึงบรรทัดที่ ๒๗ (บรรทัดสุดท้าย) เป็นการยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตของกรุงสุโขทัย ตัวอย่างข้อความ
"ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้าน กลางเมือง มีถ้อย มีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยจึงชม"
คุณค่า
๑. ด้านภาษา จารึกของพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็นถึงกำเนิดของวรรณคดีและอักษรไทย เช่น กล่าวถึงหลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย ด้านสำนวนการใช้ถ้อยคำในการเรียบเรียงจะเห็นว่า - ถ้อยคำส่วนมากเป้นคำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้ เช่น อ้าง โสง นาง เป็นต้น - มีคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตปนอยู่บ้าง เช่น ศรีอินทราทิตย์ ตรีบูร อรัญญิก ศรัทธา พรรษา เป็นต้น - ใช้ประโยคสั้น ๆ ให้ความหมายกระชับ เช่น แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง - ข้อความบางตอนใช้คำซ้ำ เช่น "ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ - นิยมคำคล้องจองในภาษาพูด ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบเอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย" - ใช้ภาษาที่เป็นถ้อยคำพื้น ๆ เป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน
๒. ด้านประวัติศาสตร์ ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง จารึกไว้ทำนองเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสภาพสังคมของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้อ่านรู้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงสุโขทัย พระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหง และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัย
๓. ด้านสังคม ให้ความรู้ด้านกฎหมายและการปกครองสมัยกรุงสุโขทัย ว่ามีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด

๔. ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวสุโขทัยที่ปฏิสืบมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพบูชาและเลี้ยงดูบิดามารดา นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงประเพณีทางศาสนา เช่น การทอดกฐินเมื่อออกพรรษา ประเพณีการเล่นรื่นเริงมีการจุดเทียนเล่นไฟ พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้ราษฎรทำบุญและฟังเทศน์ในวันพระ เช่น "คนเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักอวยทาน.......ฝูงท่วยมีศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน"
สุภาษิตพระร่วง
สมัยที่แต่งและผู้แต่ง
สุภาษิตพระร่วงหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง เป็นวรรณกรรมที่ไม่ทราบ ผู้แต่ง และสมัยที่แต่งชัดเจน ซึ่งผู้ศึกษาวรรณคดีไทยให้ความเห็นไว้ ดังนี้ดร.สิทธา พินิจภูวดล ได้อ้างถึงผู้ศึกษาวรรณคดีหลายท่านที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้แต่งสุภาษิตพระร่วง คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า สุภาษิตนี้คงรวบรวมขึ้นในสมัย พ่อขุนรามคำแหง ผู้แต่งคงมีหลายคน และคงไม่ได้แต่งเสร็จ คราวเดียวกัน พระวรเวทย์พิสิฐ กล่าวว่า ผู้แต่งสุภาษิตพระร่วงคือพ่อขุนรามคำแหง เพราะลักษณะสำนวน ภาษาในสุภาษิตพระร่วงคล้ายคลึงกับสำนวนภาษาในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ลักษณะการสอน ของสุภาษิตนี้ก็สอดคล้องกับบุคลิกลักษณะของพ่อขุนรามคำแหง ที่ชอบเสด็จ ประทับ เหนือแท่นมนังคศิลาอาสน์ เพื่อทรงสอนประชาชน ดร.สิทธา ยังได้อ้างคุณฉันทิชย์ กระแสสินธ์ว่า ผู้แต่งสุภาษิตพระร่วงคือ พระยาลิไทย เพราะสมัยนั้นกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสุดขีด ไม่มีสงคราม พระยาลิไทยทรงเชี่ยวชาญ พุทธศาสนา ได้ทรงนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงขึ้นด้วย และอีกความเห็นหนึ่งกล่าวว่า คนรุ่นหลังแต่งสุภาษิตพระร่วงขึ้น และขอยืมชื่อ "พระร่วง" ใส่ไว้ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ สุภาษิตพระร่วง มีปรากฏหลักฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้จารึกสุภาษิตพระร่วงไว้บนผนังวิหารด้านเหนือพระมหาเจดีย์ที่วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อสั่งสอนประชาชนทั่วไป ในด้านการประพฤติปฏิบัติตน
ลักษณะคำประพันธ์
แต่งเป็นร่ายสุภาพ จบด้วยโคลงสองสุภาพและต่อด้วยโคลงสี่สุภาพกระทู้ ๑ บท

เนื้อเรื่อง
เริ่มด้วยการกล่าวถึงพระร่วงเจ้าผู้ครองกรุงกรุงสุโขทัย ทรงบัญญัติสุภาษิตเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติประชาชน มีสุภาษิตทั้งหมด 158 บท ตัวอย่างสุภาษิต
ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพสุโขทัย มลักเห็นในอนา จึ่งผายพจนประภาษ เป็นอนุสาสนกถา สอนคณานรชน ทั่วธราดลพึงเพียร เรียนอำรุงผดุงอาตม์ อย่าเคลื่อนคลาดคลาถ้อย เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน อย่าริระร่านแก่ความ ประพฤติตามบุรพรบอบ เอาแต่ชอบเสียผิด อย่าประกอบกิจเป็นพาล อย่าอวดหาญแก่เพื่อน เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หน้าศึกอย่านอนใจ ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน การเรือนตนเร่งคิด อย่านั่งชิดผู้ใหญ่ อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์ ที่รักอย่าดูถูก ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าโดยคำคนพลอด เข็นเรือทอดข้างถนน เป็นคนอย่าทำใหญ ่ ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน คบขุนนางอย่าโหด โทษตนผิดรำพึง .................................................... และจบลงด้วยโคลงกระทู้ เพื่อบอกถึงที่มา ของสุภาษิตพระร่วง บัณ เจิดจำแนกแจ้ง พิศดาร ความเฮย ฑิต ยุบลบรรหาร เหตุไว้ พระ ปิ่นนัคราสถาน อุดรสุข ไทยนา ร่วง ราชนามนี้ได้ กล่าวถ้อยคำสอน

คุณค่า
๑. ด้านภาษา ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ คล้องจอง กะทัดรัด ไม่มีศัพท์สูง จึงทำให้น่าอ่าน เพราะง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ สำนวนโวหารคล้ายกันกับ ในหลักศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหง ๒. ด้านค่านิยมทางสังคม สุภาษิต สอนให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมการศึกษา รู้จักประมาณตน ไม่โอ้อวด สร้างไมตรีไม่เบียดเบียนมิตร รักเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่าทรัพย์ เช่น
สอนการปฏิบัติตน ให้รู้จักระวังตน เช่น
"เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่" "เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หน้าศึกอย่านอนใจ" "เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ"
สอนการปฏิบัติตนต่อมิตร เช่น
"อย่าควบกิจเป็นพาล อย่าอวดหาญแก่เพื่อน "อย่าขอของรักมิตร" อย่าเบียดเสียดแก่มิตร" "ยอมิตรยอลับหลัง"
สอนการปฏิบัติตนและเชื่อฟังผู้ใหญ่ เช่น
"อย่านั่งชิดผู้ใหญ่" "อย่าขัดแขงผู้ใหญ่ อย่าใฝ่ตนให้เกิน" "ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ" "จงนบนอบผู้ใหญ่" "เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ"
สอนการปฏิบัติตนต่อศัตรู
"พบศัตรูปากปราศัย ความในอย่าไขเขา
สอนให้รักศักดิ์ศรีของตนเอง
"รักตนกว่ารักทรัพย์ อย่าได้รับของเข็ญ""สุวานขบอย่าขบตอบ" "สู้เสียศีลอย่าเสียสัตย์""ตระกูลตนจงคำนับ"

สอนให้รู้จักกตัญญูกตเวที เช่น
"เลี้ยงคนจักกินแรง" "ภักดีอย่าด่วนเคียด""อาสาเจ้าจนตาย อาสานายจนพอแรง""ภักดีจงอย่าเกียจ เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ"
สอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น เช่น
"ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศอย่ารู้โรย"เป็นคนอย่าทำใหญ่ ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน""พึงผันเผื่อต่อญาติ" "ปลูกไมตรีทั่วชน""พรรคพวกพึงทำนุก" "คนจนอย่าดูถูก"
๔. ด้านอิทธิพลต่อวรรณดคีอื่น กวีรุ่นหลังนิยม นำข้อความบางตอน ไปแทรกไว้ใน วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ตอนนางพรหมณีบอกนางอมิตดาว่า "จะมารักเหากว่าผม จะมารักลมกว่าน้ำ หรือตอนพระเวสสันดร ตรัสต่อนางมัทรีว่า "เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า เป็นต้น
ไตรภูมิพระร่วง
ประวัติความเป็นมา
ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิพระร่วง" ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "ไตรภูมิพระร่วง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระยาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ซึ่งเป็นผู้พระราชนิพนธ์ นับว่าเป็นหนังสือวรรณคดีเล่มแรกที่เกิดจากการค้นคว้าจากคัมภีร์พุทธศาสนาถึง ๓๐ คัมภีร์ และมีลักษณะเป็นหนังสือที่สมบูรณ์ คือ บอกชื่อ วัน เดือน ปี และความมุ่งหมายในการแต่งไว้อย่างครบถ้วน
ผู้แต่ง
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท)
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
กล่าวไว้ในบานแพนกว่า "ใส่เพื่อขี้ไต้พระธรรม และจะใคร่เทศนาแก่พระมารดาท่าน "....ผู้ใดปรารถนาเถิงทิพยสมบัติปัตถโมกขนิพพาน ให้สดับพระไตรภูมิกถานี้ ด้วยทำนุบำรุง ด้วยใจศรัทธา" ดังนั้นจึงมีจุดมุ่งหมายในการแต่ง ๒ ประการ คือ ๑. เพื่อเทศโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมความกตัญญู ๒. เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม และเข้าใจพุทธศาสนา จะได้ช่วยดำรง พระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน
ลักษณะคำประพันธ์
เป็นร้อยแก้ว แบบเทศนาโวหาร และพรรณนาโวหาร
เนื้อเรื่อง
เริ่มต้นบอกผู้แต่ง วัน เดือน ปี และความมุ่งหมายในการแต่ง หลักฐานประกอบการเรียบเรียง จากนั้นกล่าวถึงภูมิทั้งสาม (เตภูมิ) คือ ๑. กามภูมิ พรรณนาถึงที่อยู่ของมนุษย์ เทวดา และอื่น ๆ รวม ๑๑ ภูมิ ได้แก่ สวรรค์ ๖ ภูมิ มนุษย์ ๑ ภูมิ และอบาย ๔ ภูมิ กามภูมิเป็นที่กำเนิดของชีวิตทั้งหายที่ยังลุ่มหลงอยู่ในกาม มีแดนสุขสบายและแดนที่เป็นทุกข์ปะปนกัน ผู้ที่เกิดในภูมิต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเพราะผลกรรมของตนเป็นใหญ่ ๒. รูปภูมิ หมายถึงที่อยู่ของพรหมมีรูปร่าง รวมทั้งหมด ๑๖ ชั้น เป็นแดนที่อยู่ของพรหม ซึ่งมีสมาธิ มีจิตสูงขึ้นไปโดยลำดับ ๓. อรูปภูมิ ได้แก่สวรรค์อันเป็นที่อยู่ของพรหมไม่มีรูปร่างมีแต่จิตใจเท่านั้น มี ๔ ชั้น หนังสือนี้กล่าวเริ่มตั้งแต่การกำเนิดของชีวิตต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นอย่างไร แล้วพรรณนาถิ่นที่เกิดคือภูมิต่าง ๆ ทั้ง ๓๑ อย่างละเอียด เช่น ตอนที่ว่าด้วยมนุษย์ภูมิ และะโลกสัณฐาน ได้เล่าอย่างละเอียดว่า ลักษณะของโลกเป็นอย่างไร ทวีปต่าง ๆ ภูเขา แม่น้ำ คน และสัตว์เป็นอย่างไร และจบลงด้วย การเน้นเรื่องทางไปถึงการดับทุกข์ คือนิพพานว่าเป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของชีวิต
คุณค่า
๑. ด้านศาสนา เป็นหนังสือสอนศีลธรรม เนื้อเรื่องกล่าวถึงบาปบุญคุณโทษ การเกิด การตาย เกี่ยวกับโลกทั้งสาม (ไตรภูมิ) ๒. ด้านภาษาและวรรณคดี ใช้พรรณนาโวหารอย่างละเอียดลออ จนทำให้นึกเห็นสมจริง ให้เห็นสภาพอันน่าสยองขวัญของนรก สภาพอันสุขสบายของสวรรค์ จนทำให้จิตรกรสามารถถ่ายทอดบทพรรณนานั้งลงเป็นภาพได้นอกจากนี้ยังมีอิทธิพล ต่อวรรณคดียุคหลังได้นำเอาความเชื่อต่าง ๆ มาอ้างอิงในวรรณคดีไทย เช่น ประวัติของเทวดา เขาพระสุเมรุ ช้างเอราวัณ ช้างทรงของพระอินทร์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น ๓. ด้านสังคม มุ่งใช้คุณธรรมความดี เป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ความสุขในสังคม
นางนพมาศ
เรื่องนางนพมาศ มีชื่อเรียกกันอยู่ ๓ ชื่อ คือ นพมาศ เรวดีนพมาศ และตำรับท้างศรีจุฬาลักษณ์
สมัยที่แต่ง
สันนิษฐานว่า แต่งในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท )
ผู้แต่ง
เชื่อกันว่าเป็นกวีหญิง ชื่อนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกของพระยาลิไท นางนพมาศ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถ มารดาชื่อนางเรวดี ได้รับการสั่งสอนจากบิดา มีความรู้สูงในด้านภาษาไทย ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ การแต่งคำประพันธ์ โหราศาสตร์ การขับร้องและการช่างสตรี มีความงามเลื่อลือทั้งคุณสมบัติดีเลิศ ต่อมาได้เป็นพระสนม เคยจัดดอกไม้ประดับขันหมากรับรองแขกเมือง ประดิษฐ์โคมลอยพระประทีป ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ตำแหน่งพระสนมเอก ด้านวรรณคดีเป็นผู้เขียนหนังสือนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
กล่าวกันว่า นางนพมาสหรือท้างศรีจุฬาลักษณ์เขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นเพื่อเล่าประวัติของตนเอง ในฐานะที่เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้า และเพื่อแสดงความเป็นมาของวัฒนธรรมและพิธีกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น นอกจากนั้นบรรดานิทานต่าง ๆ ที่แต่งแทรกยู่ในหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นนิทานที่ผู้แต่งยกมาประกอบการอบรมสั่งสอนผู้หญิงทั้งหลาย ให้อยู่ในความประพฤติที่ดีงาม จึงนับว่าเป็นวรรณคดีคำสอนเล่มหนึ่ง

ลักษณะคำประพันธ์
เป็นความเรียงทำนองชีวประวัติ มีคำประพันธ์ร้อยกรองแทรกบางตอนเป็นส่วนน้อย ได้แก่ โคลงสี่สุภาพและกลอนดอกสร้อย เป็นต้น
เนื้อเรื่อง
เนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยชีวประวัตินางนพมาศ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเข้ารับราชการฝ่ายใน ในราชสำนักของพระร่วงเจ้า และได้เลื่อนขึ้นเป็นพระสนมเอกในรัชกาลนั้น และกล่าวถึงพิธีต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประเพณีตอด ๙ เดือน เช่า พิธีเผาข้าว พิธีจรดพระนังคัล พิธีวิสาขะ พิธีอาสวยุช (แข่งเรือ) พิธีจองเปรียงลอยพระประทีพ เป็นต้น ตอนที่ ๒ อาจถือเป็นภาคผนวก หรือเป็นตอนที่ผู้อื่นแต่งเติมเข้ามาก็ได้ เพราะมีนิทานต่าง ๆ แทรกอยู่หลายเรื่อง ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระเท่าใดนัก นิทานที่แทรกในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องนิทานสอนผู้หญิงในแง่ต่าง ๆ ให้เห็นลักษณะของการประพฤติชั่วว่ามีโทษอย่างไร และการทำดีมีผลสนองอย่างไร เช่น นิทานเรื่องนางนกกระต้อยตีวิดโลเล นางช้างแสนงอน นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ เป็นต้น
คุณค่า
๑. ด้านวัฒนธรรม ทำให้รู้เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีในพระราชสำนัก ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง การปฏิบัติตัวของหญิงชาววัง เช่น ตำแหน่งหน้าที่ของนางนพมาศ และการศึกษาของเด็กไทยสมัยก่อน
๒. ด้านสังคม ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติสตรีและค่านิยมทางสังคม ได้แก่ ความประพฤติ ความขยัน รวมทั้งวิชาทางช่าง
๓. ด้านภาษา มีคุณค่าทางอักษรศาสตร์และวรรณคดี เรื่องนี้ใช้โวหารเชิงพรรณนาได้อย่างดียิ่ง ทำให้อ่านและเข้าใจง่าย
๔. ด้านโบราณคดี ให้ความรู้ทางโบราณคดี เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบพระราชพิธีต่าง ๆ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ก็อาศัยหลักการค้นคว้าจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ประกอบด้วย
สรุปวรรณคดีสมัยสุโขทัย

สรุปวรรณคดีสมัยสุโขทัย แยกออกได้ดังนี้
๑. เนื้อหา ส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีสอน ยกเว้นศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ยังมีข้อความที่กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงทรงสั่งสอนประชาชนในวันธรรมดาที่มิใช่วันธรรมสวนะ ลักษณะคำสอนของวรรณคดีสมัยนั้นอาจสรุปได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ เป็นคำสอนตามแนวพุทธศาสนาและสอนคำตามแนวความคิดเห็นแบบคนไทยโบราณ
๒. ลักษณะคำประพันธ์ ส่วนมากเป็นร้อยแก้ว คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องนางนพมาศ และเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง บทประพันธ์ร้อยกรองมีเพียงเรื่องเดียว คือ สุภาษิตพระร่วง ซึ่งแต่งเป็นร้อยกรองประเภทร่ายโบราณ
๓. จุดมุ่งหมายในการแต่ง มีดังนี้
- บันทึกสภาพสังคม การเมือง และการปกครอง - อบรมสั่งสอนศีลธรรม - เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์

บรรณานุกรม

http://www.krupannee.net/wan1.html#prawat
http://www.krupannee.net/wan1.html#si
http://www.krupannee.net/wan1.html#su
http://www.krupannee.net/wan1.html#tri
http://www.krupannee.net/wan1.html#nop
http://www.krupannee.net/wan1.html#sarup

1 ความคิดเห็น:

aomjar กล่าวว่า...

ขอขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ